• 8 ตุลาคม 2018 at 17:17
  • 633
  • 0

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

รางวัลโนเบลเคมีปี 2018 มอบให้แก่ 3 นักเคมีที่มีผลงานปฏิวัติการผลิตเอ็นไซม์ ซึ่งประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่เชื้อเพลิงชีวภาพไปจนถึงยารักษาโรค มาทำงานรู้จักงานของพวกเขากัน

ราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์สวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 3 ต.ค.61 ให้แก่ ฟรานซ์ อาโนลด์ (Frances Arnold) จอร์จ สมิธ (George Smith) และ เกรกอรี วินเทอร์ (Gregory Winter) จากผลงานในการประยุกต์ใช้หลักการวิวัฒนาการเพื่อพัฒนาเอ็นไซม์ที่ใช้งานในทุกสิ่ง ตั้งแต่เชื้อเพลิงชีวมวลจนถึงยารักษาโรคที่เข้าถึงเป้าหมายได้ดีขึ้น 

อาโนลด์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียในพาสาดีนา(California Institute of Technology, Pasadena) สหรัฐฯ เป็นผู้หญิงคนที่ 5 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี เธอได้รับรางวัลจากการใช้หลักการวิวัฒนาการเพื่อพัฒนาเอ็นไซม์ใหม่ ที่เป็นสารเคมีพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต 

เอเอฟพีรายงานว่าในตอนแรกเธอพยายามบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการด้วยวิธีการแบบเดิมๆ แต่การค้นพบของเธอเกิดขึ้นเมื่อเธอยอมให้ความกดดันทางวิวัฒนาการ (evolutionary forces) อย่างการคัดเลือกตามธรรมชาติหรือความบังเอิญ เป็นสิ่งที่ควบคุมจัดการพัฒนาการของเอ็นไซม์ ขณะเดียวกันก็นักวิจัยยังคงควบคุมการเกิดเอ็นไซม์อยู่ห่างๆ 

วิธีการดังกล่าวเป็นก้าวแรกที่นำหลักการวิวัฒนาการมาใช้ในงานเคมีด้านนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานที่นำไปสู่การสังเคราะห์สารประกอบทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวยาใหม่ๆ และเชื้อเพลิงที่หมุนเวียนได้มากขึ้น 

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีอีก2 คน คือ จอร์จ สมิธ จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ในโคลัมเบีย สหรัฐฯ และ เกรกอรี วินเทอร์ จากห้องปฏิบัติการชีววิทยาโมเลกุลเอ็มอาร์ซี (MRC Laboratory of Molecular Biology) ในเคมบริดจ์ อังกฤษ ก็ใช้หลักการพื้นฐานทางด้านวิวัฒนาการในงานวิจัยของพวกเขาเชนเดียวกัน 

สมิธและวินเทอร์ ให้ความสนใจในไวรัสขนาดเล็กที่ทำให้แบคทีเรียเป็นโรค ซึ่งเรียกว่า “แบคทีริโอเฟจ” (bacteriophages) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เฟจ” (phages) โดยได้ใช้ไวรัสที่รุกรานนี้ประดิษฐ์วิธีการอันสวยงามที่เรียกว่า “เฟจดิสเพลย์” (phage display) ซึ่งเฟจที่รุกรานนี้จะกระตุ้นให้แอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันทำงานเหมือน “จรวดมิสไซล์ล็อคเป้า” 

จากนั้นวินเทอร์ได้ประยุกต์ใช้การวิวัฒนาการโดยตรงเพื่อพัฒนาตัวยาที่สร้างขึ้นจากภูมิคุ้มกันของมนุษย์ทั้งหมดเป็นรายแรกของโลก โดยเทคนิคดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนายารักษาที่หลากหลาย ซึ่งสามารถพุ่งเป้าไปยังเซลล์มมะเร็งได้อย่างแม่นยำ รวมถึงใช้รักษาโรคข้อต่ออักเสบ หรือสารพิษที่เป็นสาเหตุของแอนแทรกซ์ รวมถึงชะลอการเกิดโรคผิวหนังลูปัส หรือแม้แต่ใช้ในกรณีรักษามะเร็งที่แพร่กระจายได้มาก

ตอนนี้มีแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่ใช้ทดลองในระดับคลีนิคแล้ว รวมถึงการใช้ต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์ด้วย ซึ่ง อลัน บอยด์ (Alan Boyd) คณบดีเภสัชศาสตร์ของราชวิทยาลัยการแพทย์อังกฤษ (Royal College of Physicians) กล่าวเชิดชูงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลนี้ว่า การใช้แอนติบอดีได้ยกระดับกรอบวิธีการที่เราใช้ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ จำนวนมาก ที่จะสร้างประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ป่วยทั่วโลก

จอร์จ สมิธ (HO / UNIVERSITY OF MISSOURI / AFP)
 
จอร์จ สมิธ (HO / UNIVERSITY OF MISSOURI / AFP)

 

เกรกอรี วินเทอร์ (AGA MACHAJ / UNIVERSITY OF CAMBRIDGE / AFP )
 
เกรกอรี วินเทอร์ (AGA MACHAJ / UNIVERSITY OF CAMBRIDGE / AFP )

 

 

 

 

#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน