• 18 กันยายน 2018 at 17:07
  • 660
  • 0

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

น้องแมก-นายพีรพงศ์ แซ่หลี
 
น้องแมก-นายพีรพงศ์ แซ่หลี


ผมเองติดตามกลุ่มชาวบ้าน “ผู้ที่รักในการปลูกป่า ปลูกต้นไม้” ติดตามเรื่องราวของพวกเขามาเป็นเวลา 10 กว่าปี ไม่มีใครบังคับให้เขาปลูก เขารักที่จะปลูก เพราะเขาเห็นว่าต้นไม้มีประโยชน์ เหมือนกับปลูกกาแฟ ปลูกสับปะรด ปลูกมะละกอ ปลูกยางพารา ปลูกข้าวโพด อะไรเทือกนั้น

แผ่นดินของเราอุดมสมบรูณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้นได้ งอกงาม การปลูกต้นไม้ถือเป็น “สัมมาชีพ” ไม่เบียดเบียนใคร
ถือเป็นอาชีพที่ก่อกุศล เราไม่สามารถชักชวนต้นไม้ไปรังแกข่มเหงใคร เราไม่สามารถชวนต้นไม้ไปกระทำในสิ่งผิดกฎหมายได้ ต้นไม้ไม่เคยชักชวนเราให้ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้มีแต่ให้ เมื่อปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาต่อคน ดินดี อากาศดี อุ้มน้ำ เรียกฝน เป็นทั้งยา ยามตายต้นไม้ยังอุทิศตัวมันเองเป็นบ้านเรือนให้เราได้อาศัย จนเราได้สร้างบ้านแปลงเมือง ก่อตัวเป็นรัฐชาติกันขึ้นมาได้

อยากจะชวนสนทนาถาม “ผู้ว่าฯชุมพร” ด้วยความเคารพว่า ชาวบ้านชาวสวนปลูกต้นไม้ “สร้างป่า” ในที่ดินแห่งตน มีใครเสียประโยชน์บ้าง ตอบได้ว่าไม่มี

อยากจะชวนสนทนาถาม “แม่ทัพภาคที่ 4” ด้วยจิตคาราวะว่า ชาวบ้านผู้ยากไร้ในแผ่นดินของเราปลูกป่า ปลูกตะเคียนทอง ปลูกยางนา ปลูกไม่สัก ไม้หลุมพอ ดีกว่าทำไร่ข้าวโพด ดีกว่าปลูกมันสำปะหลัง ดีกว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวไหม ท่านก็คงตอบว่า คงดีกว่าแน่นอน แผ่นดินได้ความชุ่มชื้น ป่ามี น้ำดี ประชาชนไม่ลำบาก

 


ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกร ชาวบ้าน ชาวสวนปลูกไม้เหล่านี้แน่นอน นโยบายการปลูกยางพาราเราก็มีการปรับเปลี่ยนแล้ว เพราะเห็นความตีบตัน ที่ประเทศของเรานำพาชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางมาผูกเงื่อนชีวิตทางเศรษฐกิจไว้กับยางเส้นเดียว จนลำบากกันทั้งปักษ์ใต้

“น้องแมก” เป็นชาว อ.สวี จ.ชุมพร เขามีชื่อจริงคือ นายพีรพงศ์ แซ่หลี เขานั่งรถไฟจากสถานีรถไฟสวีมาลงหัวลำโพง เพื่อมาบอกเล่าความทุกข์ใจที่สถานีโทรทัศน์ NEWS 1

เขาปลูกต้นไม้ร่วมกับพ่อของเขามาไม่ต่ำกว่า 20 กว่าปี ใช้วิธีปลูกด้วยภูมิปัญญาเกษตรดั่งเดิม สวนสมรมแบบปักษ์ใต้ เขาปลูกลองกอง ลางสาด มังคุด ทุเรียน ในที่ดิน สปก. พ่อของเขาชื่อ “นายหมิ่ง” คงไม่ชอบยางพารา จึงปลูกยางนา ปลูกตะเคียนทอง ไม่สักทอง ปลูกไม้หลุมพอ ปลุกไม้จำปาทอง ปลูกต้นไม้เหล่านี้ไว้ในสวนของเขามีไม่ต่ำกว่า 3,000 ต้น

พ่อของน้องแมกเคยเป็นวิทยากร เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้าง “ธนาคารต้นไม้” ขึ้นในแผ่นดิน แม้แต่ธนาคารของรัฐที่มีโฉนดที่ดินเกษตรกรไปเก็บรักษาไว้มากกว่าธนาคารอื่นๆ ยังเคยมาดูงานที่สวนบ้านของเขา

การปลูกต้นไม้เป็นสัมมาอาชีพ ไม่มีใครในโลกใบนี้รังเกียจแน่นอน ทั้ง จ.ชุมพรมีการปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นธนาคารต้นไม้มีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านต้น ด้วยกำลังสติปัญญาและความรักในต้นไม้ของคนชุมพร ผู้ชื่นชอบในวิถีการสร้างชาติแบบไม่เบียดเบียนโลก เขาเลือกที่จะไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เขาเลือกที่จะไม่ปลูกมันสำปะหลัง

 


“น้องแมก” ถูกตำรวจ สภ.นาสัก อ.สวี จับข้อหาไม่มีใบอนุญาตในการเลื่อยไม้ แม้แต่ไม้ที่ตัวเองปลูก
เราทราบว่าหน่วยป่าไม้เขาเองก็ไม่เซ็นชื่อร่วมจับกุม เพราะทราบว่าไม้เหล่านี้ชาวบ้านปลูกในที่ดินของตนเอง ไม่ได้ลักลอบขโมยมาจากป่าของรัฐแน่นอน แถมครูในท้องถิ่น ปลัดเทศบาลตำบลไปยืนยันกับตำรวจเพื่อขอประกันตัว

“น้องแมก” ได้มาเล่าความทุกข์ใจในรายการของผม เพื่อเผยแพร่ให้คนในชาติร่วมคิด ร่วมรับรู้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภายในชาติของเรา

อะไรกันหนอที่บั่นทอนกำลังในการสร้างสรรค์ชาติของเรา?!
ความจริงของชีวิตชาวบ้านน่าเวทนา “น้องแมก” และครอบครัวเขาเป็นคนเชื่อมั่นในวิถีปฏิบัติที่ถูกต้อง!!

การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้ประโยชน์แห่งตน พ่อแม่ของเขาไม่เคยสอนเขา ภาษาพ่อค้าอาจจะพูดว่า..ไม่มีทักษะ

เราชื่นชมที่เขาซื่อสัตย์ต่อจิตใจของตนเอง!!

 


เขาศึกษาการสร้างเลื่อยเพื่อเลื่อยไม้ให้ตรง สวยงาม เสมอกันทุกระยะ โดยคิดประดิษฐ์เครื่องเลื่อยมาจากการศึกษาในยูทูบต่างประเทศ เอาเศษเหล็กเท่าที่หาได้มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องเลื่อยไม้ในบ้าน จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญชื่นชมว่า สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างไร

“น้องแมก” ใช้เวลายื่นขอทะเบียนเพื่อขึ้นทะเบียนสวนป่า ใช้เวลาถึง 5 ปี เดินขึ้น เดินลงสถานที่ราชการ เสาะแสวงหาความเมตาจากข้าราชการกรมป่าไม้ มันช่างยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก!!

จนวันนี้ผมยังหาสาเหตุไม่พบว่า มีแรงจูงใจอะไรที่คนยากคนจนไปขอเอกสารเพื่อการสร้างสรรค์สัมมาชีพ เพื่อขึ้นทะเบียนสวนป่า แต่มันทำไมยากเย็นแสนเข็ญนัก

ผมอยากจะชวน “ผู้ว่าฯ ชุมพร” และ “แม่ทัพภาคที่ 4” ถามไปยังกรมป่าไม้ให้ประชาชนคนในชาติของเราด้วยนะครับว่า…

เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนหรือเกษตรกรจะช่วยสร้างป่า ปลูกป่าขึ้นในที่ดินแห่งตน เพื่อลดภาระอันหนักอึ้งที่ราชการแบกรับไว้นาน ซึ่งผูกขาดการปลูกป่ามาหลายทศวรรษแล้ว ป่าของชาติ ต้นไม้ขึ้นยากจัง งบบำรุงรักษาก็สิ้นเปลืองมาก

 


เรามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่า ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์ต้นไม้ในที่ดินของตนเอง ออกแบบสร้างแรงจูงใจ เพียงรัฐส่งเสริมให้กำลังใจพวกเขา ออกแบบสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนได้ปลูกต้นไม้ เหมือนกับประเทศจีนและญี่ปุ่น เพียงแค่รัฐส่งเสริม ให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ให้พวกเขาสร้างป่าในที่ดินแห่งตน ปลูกแล้วใช้ประโยชน์ได้ในความมั่งคั่งจากสัมมาชีพ จากหยาดเหงื่อแรงงานตน หากยิ่งปลูก รัฐจะจ่ายเงินสบทบจุนเจือหนุนช่วย เพื่อกรมป่าไม้จะได้ไม่เหน็ดเหนื่อยในการต้องทำเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

เปิดโอกาสให้เกษตรกรปลูกไม้ป่าอันหลากหลายในที่ดินของตนกันให้มาก ยิ่งปลูกไม้เนื้อแข็งกันมาก มีจำนวนมากๆ ในที่ดินของเขา มายาคติที่สร้างภาพหลอนว่า ชาวบ้านยากจน ใจต่ำ ชอบขโมยตัดไม้หลวง เมายาคติเหล่านี้จะได้ไม่มีอีกต่อไป เพราะเขาจะช่วยกันปลูกเหมือนชาวชุมพร

ผมคิดว่าคนยากคนจน เกษตรกรในแผ่นดินนี้ มีจิตใจอยากปลูกไม้ยืนต้น พวกเขาไม่อยากปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ

ใน “รูปที่เขาโอบกอดและเทิดทูนที่หน้าอก” ท่านเห็นอะไรไหม
ขบวนการคนปลูกต้นไม้เขาเดินตามรอยเท้าพ่อ ยามที่เขาทุกข์ใจรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เขาถือคือ ขวัญกำลังใจให้เขามีศรัทธาในวิถีของการสร้างป่าปลูกป่า

 


ผมมีโอกาสพบกับท่านอัยการ ผู้เป็นทั้งนักวิชาการด้วย ท่านให้ข้อมูลกับผมว่า เราเอาคนยากคนจนไปขังไว้ด้วยระเบียบราชการที่ไม่สร้างสรรค์มีไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคนในเรือนจำ ในห้องขัง

อุปสรรคใดหนอที่ทำให้สังคมไทยเราเป็นสังคมแห่งการทอนกำลัง บั่นทอนกำลังของคนในชาติ ด้วยเงือนไขที่สร้างความกังฉินในระบบราชการที่บั่นทอนคนในชาติด้วยกันเอง?!

ชาวสวีต้องไปนั่งหลับสามชั่วโมง เพื่อรอคอยการขึ้นทะเบียนสวนป่า ตื่นขึ้นมาแล้วก็พบกับความว่างเปล่าของระบบราชการที่ดูแลเรื่องป่าไม้ รอคอยถึง 5 ปี เดินทางจากสวีไปศาลากลางเพื่อวิ่งเรื่องขึ้นทะเบียนสวนป่า

ใครช่วยตอบผมที เกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต