สารพิษในภาคเกษตร : ภัยใกล้ตัวเราทุกคน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: สามารถ มังสัง

 

ท่านที่เป็นคนเมือง และไม่เคยไปสัมผัสกับวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในชนบท คงจะไม่รู้ว่าผัก ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา เป็นต้น หรือแม้กระทั่งข้าวสาร ซึ่งท่านซื้อมาจากตลาดสด หรือแม้กระทั่งจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อมาปรุงอาหารรับประทานกันอยู่ทุกวันนั้น มีขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยว และการขนส่งจากแหล่งผลิต จนมาถึงมือผู้บริโภคเป็นมาอย่างไร และในแต่ละขั้นตอนนั้น ปลอดภัยจากการปนเปื้อน และตกค้างของสารพิษหรือไม่มากน้อยแค่ไหน เพียงไร โดยเฉพาะในขั้นตอนการผลิต

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นลูกหลานของเกษตรกร แต่ได้เข้ามาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงไม่รู้เรื่องนี้เท่าที่ลูกเกษตรกรควรจะรู้ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในสมัยที่เป็นเด็กคลุกคลีกับการทำนา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เพื่อบริโภคในครัวเรือน และขาย ส่วนที่เหลือจากการบริโภคเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และยังมีการเลี้ยงวัวควายไว้ใช้แรงงาน

เกษตรกรในยุคนั้น ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งได้จากมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่จะกำจัดโดยใช้แรงงานคนถากถางและถอนทิ้ง เช่น ในการทำนา ถ้าเป็นนาหว่านก็จะคอยถอนวัชพืชทิ้ง เพื่อมิให้แย่งอาหารต้นข้าว แต่ถ้าเป็นนาดำ ก็จะไถดินและปล่อยให้น้ำขัง แล้วคราดวัชพืชออกจากดิน และปล่อยให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแล้วค่อยปักดำต้นกล้า

สำหรับศัตรูพืชในนาข้าว ก็จะมีเพียงปูนาและหนูนากัดกินต้นข้าว แต่ก็มีไม่มากเนื่องจากมีการควบคุมการเพิ่มจำนวน โดยกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น ปูนา ก็มีตัวนากมาคอยจับกิน และหนูนาก็มีงูคอยจับกิน จึงเท่ากับควบคุมการเพิ่มจำนวนไปในตัวนั่นเอง

2. แต่ในปัจจุบันเท่าที่ตนเองมีประสบการณ์ตรงจากการไปทำสวนเป็นงานอดิเรก และประสบการณ์ทางอ้อมจากการพูดคุย และสอบถามเกษตรกรอาชีพในพื้นที่ใกล้เคียงกับสวนของตนเอง ทำให้ทราบว่าเกษตรกรทุกคน ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือแม้กระทั่งเลี้ยงสัตว์ต้องพึ่งสารเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปลูกผักกินใบ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี และต้นหอม เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งสารเคมี เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต เนื่องจากพื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ซึ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวติดต่อกันเป็นเวลานาน และที่ไม่ใช้ปุ๋ยคอกดังเช่นแต่ก่อน เนื่องจากว่าในปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์เพื่อการใช้งานได้หมดไป และหันมาใช้เครื่องจักรกลแทน ประกอบกับการใช้ปุ๋ยเคมีสะดวก และเห็นผลเร็วกว่าปุ๋ยอินทรีย์ แต่ราคาก็แพงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับการดูแลรักษา และป้องกันความเสียหายอันเกิดจากวัชพืช เกษตรกรได้ใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า ยาฆ่าหญ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อดังๆ และใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเรียกกันในภาษาพื้นๆ ว่ายาฆ่าแมลง ภายใต้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อต่างๆ ในทำนองเดียวกันกับสารกำจัดวัชพืช

ทั้งยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลง แท้จริงแล้วมีส่วนประกอบสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อคน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลก ได้ประกาศยกเลิกการใช้แล้วอย่างเด็ดขาด แต่ในประเทศไทยยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน

สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวข้างต้นได้แก่

1. สารกำจัดวัชพืชพาราควอต เป็นสารมีพิษเฉียบพลัน และมีความเสี่ยงเกินกว่าจะควบคุมการใช้ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้

สารชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายได้ โดยผ่านทางผิวหนังซึ่งมีแผล ทั้งแผลที่มีอยู่เดิม และแผลที่เกิดจากพิษของพาราควอต

เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสัน และกระทบต่อระบบประสาทได้ ทั้งยังปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และตกค้างในแม่และเด็กด้วย

2. สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งรวมตัวกับโลหะหนัก ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น และยังทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหาย

3. สารกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส ทำให้เกิดความผิดปกติด้านการพัฒนาทางสมอง ทำให้เด็กไอคิวลดลง สมาธิสั้น กระทบการทำงานของต่อมไร้ท่อ และเพิ่มความเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้

เนื่องจากสาร 3 ชนิดเป็นสารอันตรายดังกล่าวข้างต้น หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศห้ามใช้อย่างเด็ดขาด แต่ในประเทศไทยยังวางขายภายใต้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อต่างๆ และเกษตรกรไทยยังใช้โดยปราศจากการควบคุม จึงทำให้คนไทยทั้งที่เป็นเกษตรกร และผู้บริโภคผลผลิตทางการเกษตรเสี่ยงต่ออันตราย ซึ่งเกิดจากสาร 3 ชนิดนี้ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักกินใบ เช่น คะน้า และต้นหอม เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกได้ฉีดพ่นสารกำจัดแมลงมากกว่าพืชชนิดอื่น

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร และกรมป้องกันมลพิษ ควรจะได้ร่วมมือกันผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สาร 3 ชนิดนี้ เฉกเช่นหลายประเทศที่ได้ประกาศเลิกใช้สารที่ว่านี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของคนไทย และเป็นการป้องกันมิให้สิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ดินและน้ำปนเปื้อนสารชนิดนี้ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการทำงานเพื่อประชาชน และประเทศชาติอันเป็นส่วนร่วม

#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2