น้ำพระราชหฤทัยไม่สิ้นสุด สืบสานงานพัฒนาแหล่งน้ำ

น้ำพระราชหฤทัยไม่สิ้นสุด สืบสานงานพัฒนาแหล่งน้ำ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ชัดเจนที่สุดว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริยังคงอยู่ แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะเสด็จสู่สวรรคาลัย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ไม่เพียงรับสั่งขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบรมราชชนกเท่านั้น หากยังรับสั่งพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ ด้วยพระองค์เองด้วย เป็นการสืบสานต่อยอดโครงการในรัชกาลที่ ๑๐ 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สั่งการให้ สทนช.ขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริเหล่านี้นับแต่เริ่มก่อตั้ง สทนช.ใหม่ๆ โดยให้ต่อยอดจนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริงและต้องยั่งยืนด้วย 

ขึ้นชื่อเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ล้วนเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ ตลอดจนคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม และบางโครงการก็ซับซ้อนชนิดรัฐลงมือเองโดยลำพังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

สทนช.แม้เป็นหน่วยงานใหม่ในสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เป็นหน่วยงานกลางบริหารจัดการน้ำของประเทศ สามารถประสานงานกับหน่วยงานอื่นต่างกระทรวงได้อย่างกว้างขวาง เช่น หน่วยงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ หน่วยงานด้านงบประมาณ เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนเร่งรัดงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เร็วขึ้น เพราะมีหน่วยงานกลางอย่าง สทนช.มากำกับทิศทางเอง

ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนหน้านี้ ในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน ดร.สมเกียรติเคยวางแผนขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ยังเหลืออยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วอยู่แล้ว เพราะถือเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานอย่างกรมชลประทาน 

การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริน่าจะเป็นโอกาสดีที่ดำเนินการภายใต้ สทนช.

ทั้งนี้ สทนช.จำแนกโครงการเป็นกลุ่ม โดยยกเอาโครงการที่มีความพร้อมมาขับเคลื่อนเป็นลำดับแรก 

โครงการฯ ในรัชกาลที่ ๙ จำนวน 78 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 38 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องต่างๆ 10 โครงการ

โครงการฯ ในรัชกาลที่ ๑๐ จำนวน 22 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่สำนักงาน กปร.พิจารณาสนับสนุนงบประมาณแล้ว 10 โครงการ และอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบและขอรับสนับสนุนงบประมาณจำนวน 12 โครงการ

ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน และโครงการป้องกันอุทกภัย อ.บางสะพาน 

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องจากอ่างเก็บน้ำป่าเลา แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความจุอ่าง 1.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างต่อเนื่องของเกษตรกร กรมชลประทานจึงวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู 10.46 ล้านลูกบาศก์เมตร และเร่งรัดการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจนสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้ในปี 2563 หรือต้นปี 2564 เร็วกว่าแผนที่กำหนดในปี 2565

ทั้งนี้ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ได้ 6,490 ไร่ ในเขต ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดที่ไม่เหมือนที่อื่นตรงที่มีสันเขื่อนเดิมกลางอ่างเก็บน้ำ

อ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูเป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนองตอบพระราชดำริในการที่จะช่วยเกษตรกรได้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร อย่างเหมาะสมเพียงพอ

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------

 

มรดกแก้มลิงของแผ่นดิน เร่งกระจายขยายผลแนวพระราชดำริ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

แม้บุคคลต้นคิดโครงการอย่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระองค์ทรงมอบแนวคิด “แก้มลิง” อันทรงคุณค่า ให้เป็นมรดกแผ่นดินไว้เบื้องหลัง

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักสังเกต เพียงเห็นอากัปกริยาลิงกินกล้วย พระองค์ท่านทรงนำไปประยุกต์จนนำไปสู่การออกแบบแก้มลิงในพื้นที่ลุ่มต่ำ รองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน สำหรับเก็บกักน้ำไว้เป็นการชั่วคราวด้วย และหน่วงน้ำบรรเทาน้ำท่วมไปในตัว ท้ายที่สุดยังใช้น้ำในแก้มลิงใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ด้วย

เป็นแนวพระราชดำริที่ครบวงจรคุณค่าและทวีคุณค่าในภายหลัง เป็นการเสียไปเพื่อได้มาอีกมากมาย

จากแก้มลิงในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ปี 2526 ขยายเป็นแก้มลิงหลายแห่ง เช่น แก้มลิงหนองใหญ่ จ.ชุมพร แก้มลิงทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก และแก้มลิงทุ่งอยุธยาร่วม 10 แห่ง

โครงการแก้มลิงหนองใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชุมพร เป็นผลสืบเนื่องตามมาจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.ชุมพร ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเร่งรัดให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระยะทาง 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากพายุโซนร้อนซีต้าถล่มเมืองชุมพร ช่วงเดือนสิงหาคม 2540 จนเสียหายมากมาย

เป็นการเร่งขุดเพราะทรงต้องการให้คลองนี้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบต่อตัวเมืองชุมพร

กรมชลประทานขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร เหลือ 1,460 เมตรสุดท้ายที่จะทะลุไปเชื่อมคลองพนังตักออกสู่ทะเล ซึ่งตามแผนเดิมต้องใช้เวลา 2 ปีจึงแล้วเสร็จ

ทรงเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพราะช้าเพียงก้าวเดียวพายุลินดาก็พร้อมถล่มเมืองชุมพรอีกรอบ การปรับเวลาจาก 730 วันเป็น 30 วันให้แล้วเสร็จเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ

แต่ความเหลือเชื่อก็สำเร็จลงด้วยพระบารมี ทั้งที่มีอุปสรรคหลายประการ แต่ด้วยการร่วมผนึกกำลังทั้งรัฐ ราษฎร และภาคเอกชน ทำให้สามารถขุดทะลวงคลองหัววังทะลุถึงคลองพนังตักได้ ก่อนพายุลินดาเข้าเพียงไม่กี่วัน

คนชุมพรรอดพ้นอุทกภัยแต่นั้นมา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไม่ลืมเลือน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พ้นจากคลองหัววัง-พนังตักไปไม่นาน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติเป็นแก้มลิง เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับน้ำหลากอีกตัวหนึ่ง 

ต่อมาพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม โดยให้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลอง-ปลายคลองที่ขุด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัย พิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมระหว่างคลองท่าแซะ/คลองละมุ เพื่อดึงน้ำจากคลองท่าแซะมาเติมน้ำแก้มลิงหนองใหญ่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ ปตร.ราชประชานุเคราะห์ 1-2-3 เพื่อสูบน้ำออกทะเล ลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาซึ่งเป็นคลองหลักที่ผ่านเข้าเมืองชุมพร และให้ศึกษาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลผ่านคลองท่าตะเภา

ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จทุกประการ และมีส่วนช่วยให้ชุมพรรอดพ้นปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากชนิดนอนตาหลับได้ 

“สทนช.กำลังพิจารณาแนวทางและพื้นที่แก้มลิงที่เหมาะสมในการขยายผลแนวพระราชดำริ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ฤดูน้ำหลากนี้ สทนช.ยังร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินการติดตามพื้นที่แก้มลิง ทั้งที่ทุ่งบางระกำและทุ่งอยุธยา พื้นที่เหล่านี้นอกจากพัฒนาเป็นแก้มลิงแล้ว ยังปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวด้วย โดยร่นการปลูกเร็วขึ้นตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนน้ำจะหลากมา นอกจากเกษตรกรได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแล้ว ยังมีอาชีพเสริมด้วยการจับปลาขายอีกต่างหาก และเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในแก้มลิงก็มีเพียงพอทำการเพาะปลูกได้อีก

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แก้มลิงเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำอย่างหนึ่งที่ต้องขยายผลต่อไป เพราะสามารถใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง อีกทั้งนับแต่นี้ไปไม่อาจใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ตรงข้าม ยังต้องพิจารณาทางกายภาพและภูมิสังคมประกอบด้วย ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายยิ่งขึ้น

“สทนช.กำลังเร่งศึกษาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์เป็นแก้มลิงได้ดีขึ้น ไม่ว่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ จ.พิจิตร เป็นต้น ส่วนพิ้นที่ลุ่มต่ำที่พัฒนาเป็นแก้มลิงก็ขยายพื้นที่มากขึ้นตามลำดับ เพราะเกษตรกรเริ่มเห็นผลดีจากโครงการ” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ สทนช.พัฒนาแก้มลิงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะมีส่วนช่วยให้พื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งการบรรเทาอุทกภัยและการเพิ่มพูนรายได้จากการทำประมงในช่วงน้ำหลาก ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำทำการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ปรับโครงสร้างสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง รับภารกิจขยายเส้นเลือดฝอยในไร่นา

โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กรมชลประทาน นอกจากพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบส่งน้ำด้วย

ระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเก็บกักน้ำ อันได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ส่วนทดน้ำและระบบส่งน้ำ อันได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย สายแยกซอย อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ตามมาด้วยส่วนของระบบที่รับไม้ต่อ ได้แก่ ระบบชลประทานในระดับไร่นา หมายถึงระบบส่งน้ำที่รับน้ำจากส่วนทดน้ำและระบบส่งน้ำอีกทีในรูปคูส่งน้ำ ซึ่งจะเข้าถึงไร่นาโดยตรง เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่รับไม้จากเส้นเลือดใหญ่เพื่อนำน้ำเข้าถึงแปลงอีกทอดหนึ่ง

การส่งน้ำแบบเส้นเลือดใหญ่นั้นมักกระทำควบคู่หรือต่อเนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำ ในขณะการแพร่กระจายน้ำแบบเส้นเลือดฝอยเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ซึ่งดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการจัดรูปที่ดิน

การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เดิมทีเรียกคันคูน้ำ เป็นการส่งน้ำผ่านระบบคูน้ำถึงแปลงไร่นา โดยที่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเกษตรกรเหมือนเดิม เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นระบบจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเมื่อมารวมกับการจัดรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558

ส่วนการจัดรูปที่ดินฯ ดำเนินการทดลองในพื้นที่ชลประทานภาคกลางแถบ จ.สิงห์บุรี เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2510 ต่อมาตราเป็นพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง

เดิมทีวางแผนว่าทั้งระบบส่งน้ำเส้นเลือดใหญ่ กับระบบแพร่กระจายน้ำเส้นเลือดฝอยนั้น จะดำเนินควบคู่ไปด้วยกันภายใต้ร่มธงกรมชลประทาน แต่สุดท้ายเมื่อแยกงานจัดรูปที่ดินไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งานคันคูน้ำจึงยังคงอยู่กรมชลประทานในลักษณะแยกกันอยู่และต่างฝ่ายต่างทำ ก่อนงานจัดรูปที่ดินจะหวนกลับมาอยู่ภายใต้กรมชลประทานก็ร่วม10 กว่าปีเศษที่ผ่านมา

ในเชิงโครงสร้าง แม้จะอยู่ในกรมชลประทานเดียวกัน และโอนงานคันคูน้ำมาอยู่ในสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง แต่ในทางกฎหมายต่างฝ่ายต่างมีกฎหมายเป็นของตัวเอง งบประมาณต่างฝ่ายต่างตั้งเรื่องขอกันเองตามโครงสร้างเก่า จนเมื่อปี 2558 ได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 โดยรวมงานทั้งสองเข้าอยู่ด้วยกัน จึงเป็นการกลับสู่ทิศทางเดิม โดยงานคันคูน้ำเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับงานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ภายใต้กฎหมายใหม่มีการปรับโครงสร้างใหม่ จากเดิมที่มีสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด 27 จังหวัด และโครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 17 โครงการ ก็ยุบรวมและเรียกใหม่ว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 35 สำนัก ทำหน้าที่ทั้งจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยสำนักหนึ่งๆ มีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่จังหวัดเดียวจนถึงหลายจังหวัด รับผิดชอบทั่วทั้งประเทศไทย

ข้อดีของโครงสร้างใหม่ของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางภายใต้ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 คือการขยายบทบาทการแพร่กระจายน้ำทั้ง 2 ระบบ ภายใต้หน่วยงานเดียวกันและครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงงานแพร่กระจายน้ำได้ง่ายขึ้น และไม่สับสน

นับแต่อดีตจนถึงปี 2560 กรมชลประทานได้มีการจัดรูปที่ดินไปแล้ว 2.01 ล้านไร่ และจัดระบบน้ำมาแล้ว 11.03 ล้านไร่ รวม 13.04 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ตามแผนแม่บทของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง วางแผนจัดระบบแพร่กระจายน้ำรวม 14.461 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นงานจัดรูปที่ดิน 2.085 ล้านไร่ และงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 12.376 ล้านไร่

พิจารณาจากตัวเลขเป้าหมายพื้นที่การแพร่กระจายน้ำเปรียบเทียบกับผลงานที่ผ่านมาในอดีตเป็นเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้นลง สะท้อนว่าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเองเร่งรัดสร้างผลงานเร็วขึ้นและมากขึ้น

การที่ตัวเลขการจัดรูปที่ดินมีน้อยกว่าการจัดระบบน้ำ สืบเนื่องจากความยากง่ายและขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งงานจัดรูปที่ดินเป็นงานที่อาศัยความประณีต เป็นความต้องการของราษฎรและเป็นที่ดินของราษฎรที่เมื่อจัดรูปที่ดินแล้วที่ดินส่วนหนึ่งที่ใช้เพื่อสาธารณะไม่เกิน 7% ต้องเป็นของรัฐในรูปคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังต้องร่วมลงขันค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไม่เกิน 20% โดยภาครัฐรับผิดชอบไปกว่า 80%

ในขณะการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เกษตรกรร่วมออกค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10% โดยรัฐรับผิดชอบไปกว่า 90% และกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ใช้ก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรเหมือนเดิม แต่สภาพแปลงที่ดินยังมีลักษณะเป็นที่ดินตาบอด ต่างจากการจัดรูปที่ดินที่ขจัดที่ดินตาบอดได้ทั้ง 100% กล่าวคือทุกแปลงมีเส้นทางลำเลียงเข้าถึงทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่จูงใจให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเลือกจัดรูปที่ดินเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายน้ำในรูปแบบการจัดระบบน้ำก็ยังต่อยอดไปเป็นการจัดรูปที่ดินในภายหลังก็มีเช่นกัน ดังกรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากเดิมที่เคยก่อสร้างเป็นระบบคันคูน้ำ หรือการจัดระบบน้ำในปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นการจัดรูปที่ดิน

แต่ไม่ว่าจะจัดระบบแพร่กระจายน้ำด้วยรูปแบบใดก็ล้วนเป็นประโยชน์ร่วมของเกษตรกรทั้งสิ้น ทั้งในแง่การเข้าถึงน้ำ เส้นทางลำเลียง ซึ่งนอกจากสะดวกสบายขึ้นแล้ว ยังลดต้นทุนการผลิต และการได้น้ำอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มพูนรายได้ไปในตัวเช่นกัน ซึ่งล้วนตอบโจทย์การแพร่กระจายน้ำเข้าถึงแปลงนาอย่างถ้วนทั่วและประหยัดน้ำ รวมทั้งสร้างความสุขให้แก่เกษตรกร ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการชลประทานและกรมชลประทานโดยสมบูรณ์

 

 

 

 

#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2